วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แรกรู้จักกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

แรกรู้จักกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่โรงเรียนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน
โดย...นางกัญพิมา เชื่อมชิต
ผู้อำนวยการโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี สพท.พบ. ๒

ตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติบรมราชาภิเษก พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญา ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับพสกนิกรของพระองค์ และบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของพสกนิกรเป็นที่ตั้งอย่างมิเคยย่อท้อ โดยทรงอาศัยหลักการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานคุณธรรม ความรู้ ความเข้าใจ ความชำนาญและประสบการณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรม หลักวิชา ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงของสังคมไทย เป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา เพื่อให้เป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการเสริมสร้างประโยชน์สุขของพสกนิกร
จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เป็นต้นมาจะพบว่า พระองค์ท่านได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ความพอมีพอกิน พอมีพอใช้ การรู้จักความพอประมาณการคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวและทรงเตือนสติประชาชนคนไทยไม่ให้ประมาท ตระหนักถึงการพัฒนาตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาตลอดจนมีคุณธรรมเป็นกรอบในการดำรงชีวิต ซึ่งทั้งหมดเป็นที่รู้จักกันภายใต้ชื่อว่า เศรษฐกิจพอเพียง (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง , ๒๕๔๗)
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางปฏิบัติ โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อพร้อมรับต่อความเสี่ยงบนพื้นฐานของความรอบรู้ ความรอบคอบ ระมัดระวัง และคุณธรรม การใช้ความรู้อย่างถูกหลักวิชา ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการกระทำที่ไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนความร่วมมือปรองดองกันในสังคม
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนทางสายกลาง เริ่มนำมาใช้ปฏิบัติในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี ในปี ๒๕๔๘ โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง คัดเลือกโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี เป็นโรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงประจำภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก
โรงเรียนเริ่มต้นด้วยการศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยศึกษาจากเอกสารที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มอบไว้ให้ และเข้ารับฟังการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายครั้ง จนมีความเข้าใจจึงได้นำหลักคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน และการพัฒนางานในโรงเรียน
การพัฒนางานของโรงเรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวัง และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ

เศรษฐกิจพอเพียง
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้แนวการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวหน้าทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีจิตสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ตลอดจนดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียร มีสติ และความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
(ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป)

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สรุปหลักพิจารณาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไว้ ๕ ส่วน ดังนี้
๑. กรอบแนวคิด ที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ้งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤต เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
๒. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
๓. คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะ พร้อมๆกันดังนี้
# ความพอประมาณ หมายถึงความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
# ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
# การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
๔. เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
# เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่าง
รอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อ
ประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
# เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ และไม่ตระหนี่
๕. แนวทางปฏิบัติ/ ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้ เทคโนโลยีและวัฒนรรม



สรุปปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถสรุปได้ดังแผนผัง
ต่อไปนี้


ทางสายกลาง
ความพอประมาณ

มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว

มีเหตุผล
เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรม
(รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) (ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน สติปัญญา แบ่งปัน)
เศรษฐกิจ/ สังคม/ วัฒนธรรม/ สิ่งแวดล้อม
ก้าวหน้าไปพร้อมกับความสมดุล/ มั่นคง/ ยั่งยืน














เศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนโรงเรียน

การจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานของโรงเรียนจุฬาภรณราช
วิทยาลัย เพชรบุรี เริ่มต้นด้วยการใช้งานพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นต้นแบบในการพัฒนางานโดยใช้หลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาคิดวิเคราะห์และพัฒนางานสวนพฤกษศาสตร์ หลังจากนั้นดูผลความแตกต่างระหว่างการใช้หลักคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน กับการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนโดยไม่ได้ใช้หลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง